“โรคหัวใจ” ไม่เลือกวัย เสี่ยงได้แม้อายุน้อย


โดย BDMS

เผยแพร่




“โรคหัวใจ” คือโรคยอดฮิตอันดับต้นๆ ที่คร่าชีวิตคนทั่วโลก ซึ่งจากสถิติขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลก หรือคิดเป็น 31% ของการเสียชีวิตทั้งหมด

รวมทั้งสถิติจากกระทรวงสาธารณสุขของไทยเผยว่า โรคหัวใจติดอันดับต้น ๆ ของสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย โดยเฉลี่ยในทุก ๆ 1 ชั่วโมง จะมีคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ ทั้งยังมีอัตราผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วโลก ซึ่งโรคหัวใจในผู้สูงอายุที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุดของคนทั่วโลก คือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน ตามมาด้วยโรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคกล้ามเนื้อหัวใจ

เหนื่อยหอบแน่นหน้าอก  รู้ให้ชัด "โรคหัวใจ" หรือ "โควิด-19"

ทำความรู้จัก "Broken Heart Syndrome" เครียดเกินไปอาจทำร้ายหัวใจคุณ

ตามความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ จะรู้สึกว่าโรคหัวใจเป็นโรคที่พบได้เฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ข้อมูล ณ ปัจจุบันกลับพบว่า คนที่อายุน้อยหรือวัยรุ่นก็มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้เช่นกัน

และที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือ แนวโน้มที่บ่งชี้ว่าคนอายุน้อยๆ ก็มีอัตราการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวมากขึ้นเรื่อย ๆ คำว่า “โรคหัวใจ” นี้มีความหมายครอบคลุมโรคและอาการหลากหลาย เกี่ยวกับการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ ซึ่งแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่
1. กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ      
2. หลอดเลือดหัวใจผิดปกติ            
3. ลิ้นหัวใจผิดปกติ และ
4. เยื่อหุ้มหัวใจผิดปกติ

 

คอนเทนต์แนะนำ
รู้จักเครื่อง ECMO  พยุงหัวใจและปอดให้ผู้ป่วยโควิด-19
ทำ ‘บอลลูน’ รักษาหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคคร่าชีวิตคนไทยอันดับต้น ๆ

อย่างที่เราทราบกันดีว่า หน้าที่สำคัญของ “หัวใจ” คือสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เรียกได้ว่าเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่ได้หยุดพัก ซึ่งหากอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งมีความผิดปกติหรือต้องการเลือดไปเลี้ยงมากขึ้น หัวใจก็ต้องทำงานหนักขึ้น และยิ่งหากหลอดเลือดในร่างกายมีไขมันพอกพูน เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี ก็ยิ่งทำให้หัวใจต้องทำงานหนัก และอาจเกิดภาวะหัวใจวายหรือหัวใจล้มเหลว อันตรายร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

โดยในกลุ่มคนอายุน้อยพบได้ทั้งโรคหัวใจที่เกิดจากกรรมพันธุ์หรือมีความผิดปกติที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด และโรคหัวใจที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต
ที่พบมากที่สุดก็คือ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ พักผ่อนน้อย ไม่ออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เมื่อเกิดการสะสมนานวันเข้า ก็ส่งผลให้มีทั้งโรคอ้วน เบาหวาน ไขมัน ความดันโลหิตสูง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคหัวใจตามมา

นอกจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตข้างต้นแล้ว ยังมีอีกความเสี่ยงหนึ่งที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง นั่นคือ การไม่ดูแลสุขภาพช่องปากและฟันให้ดี เพราะปากอาจเป็นที่ซุกซ่อนของเชื้อโรค อย่างแบคทีเรีย สะ-เตรป-โต-ค็อก-คัส (Streptococcus) ที่อาจแทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือดจนทำให้เยื่อบุหัวใจอักเสบและลิ้นหัวใจอักเสบได้

ข้อมูลที่น่าตกใจคือ ในปัจจุบันพบว่าคนอายุ 25 – 40 ปี ก็เป็นโรคหัวใจแล้ว หรือแม้แต่คนที่ร่างกายแข็งแรง ๆ เป็นนักกีฬาก็มีความเสี่ยงในการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติได้ โดยเฉพาะนักกีฬาอาชีพหรือผู้ที่ใช้ร่างกายหนัก ๆ ควรจะต้องตรวจเช็กสุขภาพหัวใจก่อนทุกครั้ง เพื่อดูว่าสามารถเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมที่หักโหมได้มากน้อยแค่ไหน

checklist 5 สัญญาณโรคหัวใจ มาให้ลองตรวจเช็กสภาพหัวใจเบื้องต้น
1. มีอาการเหนื่อยง่าย เดินใกล้ๆ หรือทำอะไรที่เคยทำได้ตามปกติในชีวิตประจำวัน ก็รู้สึกเหนื่อย
2. มีอาการหน้ามืด เป็นลมหมดสติ วูบ หรือไม่รู้สึกตัวกะทันหันบ่อยๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ
3. มีอาการแน่นหน้าอก ร้าวขึ้นกรามด้านซ้าย ร้าวไปถึงท้องแขนด้านซ้าย หรือร้าวลงมาบริเวณท้อง  หายใจไม่ออก เหมือนมีของหนักมาทับ ร่วมกับอาการเหงื่อแตก ใจสั่น ใจเต้นเร็วและรัวผิดปกติ 
4. ไม่สามารถนอนราบได้ นอนกลางคืนแล้วต้องตื่นมานั่งหอบ ไอ และจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งต้องระวัง อาจจะเป็นภาวะหัวใจล้มเหลวได้
5. อาการขาบวมบริเวณหน้าแข้งหรือบริเวณปลายเท้าทั้ง 2 ข้าง หากใช้นิ้วมือกดลงไปจะพบว่าเนื้อบุ๋มลง เมื่อยกนิ้วขึ้นเนื้อก็ยังไม่คืนตัว ร่วมกับมีอาการเหนื่อยแม้จะนั่งเฉยๆ นอนราบไม่ได้ มีอาการแน่นท้องมากขึ้น

อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการทำงานที่ผิดปกติของหัวใจที่สำคัญมาก หากคุณผู้ชมสังเกตเห็นว่าตัวเราหรือคนรอบข้าง มีอาการดังกล่าว ให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยด่วน เพราะอาจรุนแรงถึงขั้นหัวใจวายได้

เยาวชนเป็นโรคอ้วนเพิ่ม 10 เท่า ในรอบ 40 ปี

โรคหัวใจ ใครว่าไกลตัว?

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ