เปิดความเห็น "เจ้าพ่อเฟซบุ๊ก" มาไทยได้อะไร?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลังจากเมื่อวานนี้ (17 ต.ค.60) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า “มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก จะมาไทยปลายเดือนตุลาคมนี้ และในวันที่ 30 ตุลาคม จะเข้าพบ วันนี้ทีมนิวมีเดียพีพีทีวี นำความคิดเห็นที่หลากหลายของ “กูรูไอที-พี่หลามจิ๊กโก๋ไอที-นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน” กับคำถาม ทำไม “มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก” ต้องมาเมืองไทย มาให้อ่านกัน

กูรูออนไลน์ ชี้ “มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก” ต้องมาเมืองไทย

เพราะ “ไทย” มีอิทธิพลกับสื่อโซเชียลมีเดีย

นายภาวุธ พงษ์วิทยาภานุ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ Tarad.com – ตลาดออนไลน์ กล่าวว่า “มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก” ต้องมาเมืองไทย เนื่องจากไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีอิทธิพลกับสื่อโซเชียลมีเดียมาก เพราะปัจจุบันยอดผู้ใช้งานเฟซบุ๊กในประเทศไทยอยู่อันดับ 9 ของโลก หรือกว่า 4.7 ล้านบัญชีผู้ใช้ โดยมีการใช้งานเพื่อเป็นสังคมส่วนตัว พูดคุย ค้าขาย ร่วมไปถึงติดต่อประสานงาน ซึ่งเหตุนี้จึงทำให้มาร์คสนใจที่จะเดินทางมาร่วมพูดคุยกับผู้นำประเทศหรือนายกรัฐมนตรีของไทย

นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นประเทศแรกๆ ที่เฟซบุ๊กออกลูกเล่นใหม่ๆ เมื่อไหร่คนไทยจะใช้ก่อนเสมอ เช่น การแพร่ภาพสด การมีชุมชนเพื่อจำหน่ายสินค้าต่างๆ เป็นต้น ซึ่งเรื่องธุรกิจบนสื่อออนไลน์นี้ มาร์คคงเห็นถึงความสำคัญ และอยากร่วมพูดคุยประเด็นการโฆษณาต่างๆ บนเว็บไซต์ของเขาเองด้วย

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการปรึกษาหารือเกี่ยวกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 อีกด้วย เพราะเชื่อว่านโยบายนี้ยังต้องการคนผลักดัน และมาร์คอาจจะเป็นผู้ขับเคลื่อนและช่วยผลักดันในแง่ของสื่อโซเชียลมีเดียได้ดี

ขณะเดียวกันเมื่อประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการใช้เฟซบุ๊กอยู่ในอันดับต้นๆ ซึ่งการใช้งานก็ยังแฝงไปด้วยความอันตรายและความรุนแรงผ่านโลกออนไลน์ เช่น การแพร่ภาพการฆ่าตัวตาย ความรุนแรง และการล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น ซึ่งทางเฟซบุ๊กยังไม่สามารถจัดการและตอบสนองได้เด็ดขาดทันที โดยเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว และมีผู้ใช้งานรายงานหรือร้องเรียนไป ทางเฟซบุ๊กจะต้องใช้เวลาการดำเนินการที่ค่อยข้างนาน จึงทำให้ทางภาครัฐต้องแก้ปัญหาออกกฎหมายกำกับดูแลสื่อออนไลน์เอง ดังนั้นการที่มาร์คมาครั้งนี้ จึงอยากให้ทางเฟซบุ๊กช่วยตอบสนองเรื่องดังกล่าวให้รวดเร็วมากขึ้น ควรขยายตลาดให้คนในพื้นที่ช่วยสอดส่องดูแล ถือเป็นการช่วยลดความรุนแรงบนโลกออนไลน์ลงได้

อย่างไรก็ตาม การที่มาร์คมาเยือนไทยในครั้งนี้ แม้จะเป็นการมาในนามของสื่อออนไลน์ที่มีอิทธิพลต่อประเทศไทย แต่ในทางกลับกันในเชิงธุรกิจสื่อต่างๆ ก็คงอยากทราบว่ามาร์คจะสามาถช่วยเหลือสื่อเดิมในประเทศไทยได้อย่างไร ให้อยู่รอดเติบโตควบคู่ไปกับสื่อออนไลน์ เช่น สื่อหนังสือพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ และสื่อวิทยุ

ทั้งนี้ การมาของมาร์คครั้งนี้ช่วยทำให้คนไทยเห็นว่าเขาให้ความสนใจและใส่ใจประเทศไทยอย่างมาก โดยหวังว่าหลังการมาเยือนในครั้งนี้จะช่วยให้ทางเฟซบุ๊กเข้าใจคนไทย และเพิ่มลูกเล่นใหม่ๆ เพื่อตอบสนองพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ของคนไทยได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้ภาครัฐตื่นตัวเรื่องวิวัฒนาการและพฤติกรรมต่างๆ ของคนไทยในการใช้สื่อออนไลน์อีกด้วย

“หลาม จิ๊กโก๋ไอที” ชี้ “มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก” มาปรับแผน-เรียนรู้พฤติกรรมคนไทย

นายที่รัก บุญปรีชา หรือที่หลายๆ คนรู้จักกันในนาม “หลาม จิ๊กโก๋ไอที” เป็นอีกหนึ่งผู้รู้ด้านไอทีที่ให้ความเห็นว่า ทำไม “มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก” ต้องเดินทางมาประเทศไทย โดยคาดว่าการมาเยือนไทยในครั้งนี้เป็นเพราะประเทศไทยมีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กเป็นอันดับต้นๆ ของโลกหากวัดจากระดับประเทศ แต่หากวัดจากระบบหัวเมือง กรุงเทพมหานคร ถือเป็นอันดับหนึ่งของโลกที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด และเป็นอันดับหนึ่งในการใช้ฟังก์ชันการถ่ายทอดสดอีกด้วย เพราะประเทศไทยมีการทำธุรกิจบนเว็บไซต์เฟซบุ๊กมากขึ้นเรื่อยๆ มีการสร้างเพจขายสินค้า กลุ่มแบ่งปันสินค้าต่างๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ เฟซบุ๊กกำลังจะทำระบบการจ่ายเงินบนเว็บไซต์ของตนเอง เพื่อตอบสนองพฤติกรรมการซื้อของออนไลน์ของผู้ใช้งาน ซึ่งในประเทศไทยถือว่ามีสถิติการซื้อของออนไลน์อย่างท่วมท้น โดยระบบนี้จะช่วยให้การซื้อขายมากยิ่งขึ้นเปรียบเสมือนกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ให้ใช้จ่ายผ่านเฟซบุ๊กได้เลยโดยไม่ต้องผ่านธนาคารหรือแอพพลิเคชั่นอื่นๆ ซึ่งนั่นก็อาจจะเป็นการตอบสนองพฤติกรรมและความต้องการของคนไทยอีกด้วย

นอกจากนี้ มาร์คอาจเข้ามาเก็บข้อมูลพฤติกรรมการเล่นเฟซบุ๊กของคนไทย เพื่อดูว่าเพราะอะไรคนไทยถึงใช้งานเฟซบุ๊กเยอะเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และนำไปพัฒนาลูกเล่นและระบบต่างๆ ของเฟซบุ๊กให้เหมาะสมกับคนไทยมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามยอดการสมัครใช้งานเฟซบุ๊กของคนไทยมีอัตราสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการดูแลจัดการอาจทำได้ยาก เพราะเฟซบุ๊กไม่เพียงแต่ดูแลประเทศไทยประเทศเดียว แต่ต้องดูแลประเทศอื่นๆ อีกทั่วโลก ดังนั้นการจัดการเรื่องภาพ คลิป หรือข่าวต่างๆ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ ให้ออกกฎหมายปรับเข้ากับสังคมออนไลน์ในปัจจุบัน เพราะเฟซบุ๊กอาจเข้ามาดูแลไม่ได้ทั้งหมด

นักวิชาการมอง “มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก” มาขยายตลาดเฟซบุ๊กในไทย

ผศ.สกุลศรี ศรีสารคาม หัวหน้าสาขาวิชาวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจ้นท์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เผยถึงเหตุผลว่าทำไม “มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก” ต้องเดินทางมาเมืองไทย ว่าเฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือที่มีอิทธิพลมากสำหรับคนไทย เนื่องจากตลาดเฟซบุ๊กของประเทศไทยเป็นตลาดที่เติบโตค่อนข้างรวดเร็ว มีผู้ใช้งานจำนวนมากหลากหลาย ทั้งเพศ และวัย ซึ่งผู้ใช้งานมีทั้งบัญชีส่วนตัว ชุมชน และเชิงธุรกิจ อย่างจริงจัง ขณะเดียวกันข้อมูลก็มีการใช้ข้อมูลที่หลากหลาย

ในขณะเดียวกันมาร์คอาจมาเพื่อตกลงทำความร่วมมือกับประเทศไทยในด้านธุรกิจต่างๆ การลงทุน การโฆษณาบนโลกออนไลน์หรือเว็บไซต์ของเขา เปรียบเสมือนการขยายตลาดเฟซบุ๊กของเขาให้กว้างมากยิ่งขึ้นเพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และคาดว่าจะมีการพูดคุยเรื่องการดูแลและกำกับการใช้ข้อมูลต่างๆ บนเว็บไซต์เฟซบุ๊กมากขึ้น เนื่องจากคนไทยยังใช้ประโยชน์ของ BIG DATA หรือฐานข้อมูลขนาดใหญ่บนโลกออนไลน์ไม่ได้มาก และทางผู้ดูแลยังไม่มีการกรองข้อมูลอย่างจริงจัง และเห็นได้ชัด จึงทำให้ปัจจุบันมีการโพสต์และแชร์ในเรื่องราวที่ไม่เหมาะสมเป็นจำนวนมาก ซึ่งประเด็นนี้อาจอยู่ในการพูดคุยกันระหว่างมาร์คกับนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ด้วย เพราะถือเป็นเรื่องที่สำคัญและเป็นที่น่าจับตามมองอย่างมาก

ส่วนการพูดคุยในครั้งนี้ ผศ.สกุลศรี กล่าวว่า อาจมีการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องธุรกิจบนโลกออนไลน์หรือเว็บไซต์เฟซบุ๊ก ในการปรับปรุงระบบการค้าขาย การทำธุรกิจ เพราะธุรกิจต่างๆ ในไทยส่วนใหญ่จะอยู่บนเฟซบุ๊กและค่อนข้างที่จะประสบความสำเร็จ โดยการเจรจาด้านธุรกิจอาจทำให้เฟซบุ๊กได้ผลประโยชน์จากค่าโฆษณาของธุรกิจเหล่านั้นด้วย

อย่างไรก็ตาม การมาในครั้งนี้อาจเป็นการพูดคุยและร่วมแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนสังคมออนไลน์ ซึ่งในมุมมองของอาจารย์ด้านสื่อสารมวลชนมองว่าอยากให้ช่วยแก้ปัญหาระบบการจัดการคัดกรองข้อมูลต่างๆ บนเฟซบุ๊ก เพราะคนไทยใช้เฟซบุ๊กเป็นเครือข่ายสังคม และเฟซบุ๊กก็ถือเป็นตลาดที่มีอิทธิพลมากสำหรับคนไทย โดยในขณะเดียวกันคาดว่าการปรับปรุงเรื่องนี้อาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากภาษาไทยมีความซับซ้อนมาก เช่น คำที่อ่านแล้วเป็นแง่บวก แต่แท้จริงแล้วเป็นการประชดประชัน เป็นต้น ดังนั้นคนไทยหรือผู้ใช้เฟซบุ๊กชาวไทย ควรช่วยสอดส่องดูแลและระงับเรื่องเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น ข่าวลวง ภาพอนาจาร ภาพสะเทือนใจ หรือข้อมูลต่างๆ ที่เป็นอันตราย

จุดเริ่มต้นเฟซบุ๊ก

“เฟซบุ๊ก” (Facebook) เปิดให้ใช้งานครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548 โดย “มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก” เป็นผู้สร้างเว็บไซต์ดังกล่าวขึ้น ซึ่งเป็นเว็บประเภทโซเชียลเน็ตเวิร์ก ขณะนั้นเปิดให้เข้าใช้เฉพาะนักศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดเท่านั้น ต่อมาเพียงสองสัปดาห์เท่านั้น เว็บไซต์นี้ก็เป็นที่รู้จักในของนักศึกษาที่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดกว่าครึ่ง และยังสมัครเป็นสมาชิกเพื่อเข้าใช้งานเฟซบุ๊กกันอย่างล้นหลาม และเมื่อทราบข่าวนี้ มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในเขตบอสตันก็เริ่มมีความต้องการ และขอเข้าใช้งาน มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ค้นเว็บไซต์ดังกล่าว จึงชักชวนเพื่อนเพื่อร่วมสร้างเว็บไซต์เฟซบุ๊ก ได้แก่ ดัสติน มอสโควิส และคริส ฮิวจ์ ซึ่งระยะเวลา 4 เดือนหลังจากนั้นเฟซบุ๊กจึงได้เพิ่มรายชื่อและสมาชิกของมหาวิทยาลัยอีก 30 กว่าแห่ง

ทั้งนี้ แนวคิดเริ่มแรกในการตั้งชื่อ Facebook นั้นมาจากเพื่อนที่โรงเรียนเก่า “ฟิลิปส์ เอ็กเซเตอร์ อะคาเดมี่” ในระดับมัธยมปลายของมาร์ค โดยโรงเรียนแห่งนี้ จะมีหนังสืออยู่หนึ่งเล่มที่ชื่อว่า The Exeter Face Book ซึ่งหนังสือเล่มนี้จะถูกส่งต่อกันไปให้นักเรียนในชั้นคนอื่นๆ ได้รู้จักเพื่อนๆ ในชั้นเรียน ซึ่งก็เป็นเพียงหนังสือเล่มหนึ่งเท่านั้น แต่มาร์คได้ปรับปรุงและคิดค้นให้กลายมาเป็นสังคมของโลกอินเทอร์เน็ต

จากนั้นเมื่อประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง มาร์คและเพื่อนของเขาอีก 2 คน รวมตัวกันเช่าอพาร์ตเมนท์แห่งหนึ่งเพื่อทำเป็นสำนักงาน และหลังจากนั้นสองสัปดาห์มาร์ค ติดต่อเพื่อนอีกหนึ่งคนคือชอน ปาร์คเกอร์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Napster ต่อมาปาร์คเกอร์ช่วยแนะนำให้มาร์ครู้จักกับนักลงทุนคือ ปีเตอร์ ธีล หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง PayPal และผู้บริหารของ The Founders Fund โดยหลังจากรู้จักกันกัน ปีเตอร์จึงตัดสินใจลงทุนให้กับ Facebook เป็นจำนวนเงิน 500,000 เหรียญสหรัฐฯ

ถัดมาในปี 2008 Facebook มีสมาชิกที่มาสมัครใหม่มากกว่า 1 ล้านคนต่อสัปดาห์ โดยเฉลี่ยวันละ 200,000 คน ซึ่งรวมกันแล้วทำให้ในตอนนั้นมีสมาชิกมากถึง 50 ล้านคน โดยมียอดผู้เข้าชมเฉลี่ยกว่า 40,000 ล้านเพจวิวต่อเดือน ซึ่งมีรายงานออกมาว่า ค่าเฉลี่ยของสมาชิกที่มาใช้งาน Facebook อยู่ที่ 19 นาทีต่อวันต่อคน โดยถือได้ว่าเป็นเว็บไซต์ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของสหรัฐอเมริกาและเป็นเว็บไซต์ที่มีผู้อัพโหลดรูปภาพสูงที่สุดด้วยจำนวน 41,000 ล้านรูป

ด้านพัฒนาการของเฟซบุ๊ก เริ่มต้นเมื่อปี 2004 ที่มาร์คเปิดใช้เว็บไซต์ดังกล่าวในมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ซึ่งตอนนั้นเน้นไปที่ข้อมูลส่วนบุคคลมากกว่า ต่อมาในปี 2005 มีการปรับเปลี่ยนหน้าตาของเว็บไซต์ให้เป็นระเบียบมากขึ้นแต่ไม่ได้เพิ่มลูกเล่นอะไรมาก ปี 2006 มีการปรับเปลี่ยนและเพิ่มลูกเล่นให้สามารถใส่ภาพได้มากขึ้น จากนั้นปี 2007 หน้าโปรไฟล์ถูกปรับอีกครั้ง มีการเพิ่มกล่องข้อความให้สามารถคุยส่วนตัวกับผู้ใช้งานอื่นๆ ได้ และในปีนี้ก็มีผู้เข้าใช้งานกว่า 30 ล้านรายแล้ว ต่อมาในปี 2008 มีแอพพลิชั่นการสนทนาบน iPhone หรือเมสเซนเจอร์ และเริ่มเปิดรับโฆษณาออนไลน์อย่างจริงจังมากขึ้น ในปี 2009 มีระบบตั้งค่าความเป็นส่วนตัว จากเดิมที่ทุกคนสามารถมองเห็นข้อมูลของกันและกันได้ และเพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานร่วมกับทวิตเตอร์ ส่วนในปี 2010 มีการปรับเปลี่ยนอีกครั้ง โดยเพิ่มปุ่มแจ้งเตือนเพื่อเตือนว่ามีอะไรเคลื่อนไหวในโปรไฟล์ของเรา ในกลางปีนี้มีสมาชิกเข้าใช้งานแล้วกว่า 500 ล้านรายทั่วโลก โดยหลังจากนั้นได้มีการเชื่อมต่อกับอินสตาแกรม ยูทูป และเว็บไซต์อื่นๆ บนโลกออนไลน์อีกมาก พร้อมทั้งปรับปรุงระบบการแจ้งเตือนวันเกิด การสนทนาผ่านข้อความส่วนตัว รวมไปถึงการถ่ายทอดสดอีกด้วย

สำหรับเฟซบุ๊กปัจจุบันมียอดผู้ใช้งานครบ 1,000 ล้านคน ในปี 2012 ซึ่งยอดผู้ใช้งานที่ทะลุ 2,000 ล้านคนในปีนี้ สะท้อนให้เห็นว่าจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว ในเวลาเพียง 5 ปี

คนไทยใช้เฟซบุ๊กติดอันดับ 9 ของโลก

สำหรับการใช้งานเฟซบุ๊กในไทยมีผู้ใช้งาน 47 ล้านคน เป็นอันดับ 9 ที่มีผู้ใช้งานมากสุดในโลก โดยกรุงเทพฯ มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กประมาณ 27 ล้านคน รองลงมาคือชลบุรี เชียงใหม่ และนครราชสีมา ตามลำดับ ขณะที่ช่วงเวลาที่คนไทยใช้เฟซบุ๊กมากที่สุดคือ 18.00-23.00 น. ของวันทำงานทุกวัน

ขณะเดียวกันในปี 2560  มีเหตุการณ์ที่เว็บไซต์เฟซบุ๊กล่มทั้งในประเทศไทย รวมถึงประเทศอื่นๆ หลายครั้ง เช่น เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2560 ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียแห่โพสต์ภาพเฟซบุ๊กล่มเข้าใช้งานไม่ได้ กว่า 20 นาที และติดแฮชแท็ก Facebookdown จนทำให้ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 26 ส.ค.60 เฟซบุ๊กล่มนานกว่า 1 ชั่วโมง ด้านผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม (ไอจี) หันมาใช้ทวิตเตอร์ทวีตข้อความว่าเฟซบุ๊กล่ม เฟซบุ๊กใช้งานไม่ได้ และไอจีล่ม พร้อมติดแฮชแท็กเช่นเดียวกัน ในขณะที่มีการรายงานปัญหาเข้าไปยังเฟซบุ๊กกว่า 8,000  ครั้งใน 24 ชั่วโมง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2560 เว็บไซต์เฟซบุ๊กใช้งานไม่ได้ชั่วคราว ทั้งในประเทศไทย และยังมีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กในอีกหลายประเทศที่ประสบปัญหาดังกล่าวด้วย

ผลประกอบการเฟซบุ๊ก

เฟซบุ๊ก เผยผลประกอบการในไตรมาส ล่าสุด รายได้และกำไรเพิ่มขึ้น โดยจำนวนผู้ใช้ต่อเดือนของเฟซบุ๊กกว่า 2 พันล้านคน หรือคิดเป็นกว่า 1 ใน 4 ของประชากรโลก ถือเป็นแรงดึงดูดรายได้โฆษณาที่สำคัญ ซึ่งทางบริษัทระบุว่ารายได้ระหว่างเดือน เม.ย.-มิ.ย.ปีนี้ สูงถึง 9,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (312,000 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 45 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนกำไรสูงขึ้นร้อยละ 71 หรือคิดเป็น 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (131,000 ล้านบาท)

 

ขอบคุณภาพจาก AFP

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ